วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเลือกซื้ออูคูเลเล่


ไม่เพียงวงการดนตรีที่มีกระแส อูคูเลเล่ หรือ กีตาร์ฮาวาย ฟี เวอร์ เพราะคนแทบทุกวงการก็กำลังหลงใหลคลั่งไคล้เจ้ากีตาร์ขนาดย่อนี้กันยกใหญ่ หลังมีนักร้องดังหลายคนนำมาดีดประกอบเพลง และล่าสุดกับสาวเซอร์ นท พนายางกูร แห่งเวที เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ปี 7 ที่หยิบเอา อูคูเลเล่ มาดีดโชว์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เจ้า อูคูเลเล่ ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

           สำหรับใครที่อยากเล่น อูคูเลเล่ ก็ต้องซื้อหาจับจองมาเป็นเจ้าของ ซึ่งสนนราคาเริ่มต้นที่ 1,500 - 50,000 หรือสูงกว่านั้น ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำ อูคูเลเล่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ราคา อูคูเลเล่ ปรับตัวสูงขึ้นมากตามความนิยม วันนี้เราจึงนำ วิธีการเลือกซื้ออูคูเลเล่ จาก คุณเมษาฮาวาย มาฝากกันค่ะ

           1. อูคูเลเล่ ที่ดี ต้องไม่ใช่สวยแค่รูป เสียงเป็นส่วนที่สำคัญกว่า (เว้นเสียแต่ว่า จะซื้อมาตั้งโชว์เฉย ๆ) แต่ให้ดีที่สุดคือ เสียงและรูปควรจะดีทั้งคู่ ลวดลายที่ฝังมุก ทำขอบคิ้วไม่ได้มีผลกับเสียง ถ้าจะต้องจ่ายเพิ่มก็ควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย แต่บางยี่ห้อก็ใส่เครื่องประดับเข้าไปเยอะจนทำให้เสียงทึบและหนักเข้าไปอีก

           2. ไม้ที่ใช้ทำมีส่วนสำคัญมาก ไม้แต่ละชนิดจะให้เสียงแตกต่างกันไป ถ้าพอจะมีกำลังทรัพย์ ขอแนะนำให้ซื้อไม้ที่เป็นไม้แท้ทั้ง ตัว (solid) จะดีกว่าไม้อัด (composite หรือ plywood) ยกตัวอย่าง ไม้ all solid mahogany ก็จะทำจากมะฮอกกานีทั้งแผ่น ไม่ผสมอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นไม้ composite อาจจะเป็นลักษณะที่่ว่า นำไม้อัดมาทำแล้วใช้มะฮอกกานีแผ่นบาง ๆ แปะด้านหน้าเพื่อความสวยงาม

           3. ไม้ที่เป็น solid ยิ่งเล่น เสียงจะยิ่งดีขึ้นตามกาลเวลา เก็บให้เก่าอย่างเดียวก็จะไม่ดีเท่าเก็บแล้วเล่น ต้องเล่นให้ไม้มันได้สั่น ได้ดิ้นบ้าง


ิอูคูเลเล่
อูคูเลเล่ กีตาร์ฮาวาย

           4. เสียงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อผ่านไปประมาณ 1 ปี แล้วน้ำหนักจะเบาลง เพราะไม้จะแห้ง สังเกตอูคูเลเล่รุ่นเก่า ๆ จะเบากว่าตัวใหม่ที่เพิ่งออกมาจากโรงงาน โดยส่วนตัวแล้วถ้าซื้อของมือสองแล้วเสียงมันดี อาจดีกว่าซื้อมือหนึ่งแต่เสียงไม่ดี (แล้วก็ไม่แน่ว่าอีกปีเสียงมันจะดีขึ้นมา)

           5. สังเกตบริเวณรอยต่อต่าง ๆ ควรจะต้องหนาแน่น จุดที่ควรระวังคือ บริเวณคอ และบริเวณ bridge (ส่วนที่สายด้านล่างลงมาร้อย) ใช้ไปนาน ๆ บางทีคอเบี้ยว คอคด ส่วนที่เป็น bridge ถ้ากาวไม่หนาแน่น มันอาจจะหลุดออกมาได้ เพราะแรงดึงของสาย (บางยี่ห้อ ยังไม่ทันจะไขให้สายตึงได้ทูน ไขไป bridge ดังแก๊ก ๆ ๆ ๆ แล้ว) ถ้าซื้อของมือสองให้สังเกตุว่า มีรอยกาวหรือรอยซ่อมบริเวณ คอ หรือ bridge หรือเปล่า ไม้ที่ผ่านการซ่อมแซม มักจะมีรอยให้เห็น เช่นรอยเดิมกับรอยใหม่อาจจะไม่ทับกันพอดี หรือมีกาวที่ล้นเกินออกมา อูคู่เลเล่ เก่า ๆ คุณภาพงานดีอย่างของ Martin หรือ Kamaka อายุหกเจ็ดสิบปี ไม่เคยมีปัญหา

           6. วางอูคูเลเล่ ในแนวระนาบ แล้วเล็งดูว่าไม้มีการคดงอหรือไม่ แนบตาลงไปจนชิดกับส่วนท้ายของอูคูเลเล่ แล้วส่องไปที่ส่วนหัว เราควรจะเห็นเฟรทบอร์ดเรียงตัวกันเป็นระเบียบ ถ้า อูคูเลเล่ คอเบี้ยว จะมองออกว่าเฟร็ดไม่อยู่ในแนวระนาบ อูคูเลเล่ ใหม่ ๆ ไม่ค่อยมีปัญหานี้ (แต่ก็ไม่แน่) ส่วนมากอูคูเลเล่เก่า ๆ จะเป็นเนื่องจากเก็บไม่ถูกวิธี

           7. ลองขยับ ไข tuners ดูว่าหลวมหรือเปล่า ไขได้คล่องมั้ย ถ้าเป็น friction tuners เราอาจจะต้องไขหมุดโลหะด้านบนสุดก่อน (แล้วมันจะแน่นขึ้น) แต่ก็ไม่ควรไขจนหมุนไปไหนไม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับไม้ได้

           8. ลูบ ๆ คลำ ๆ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นขอบของเฟทบอร์ด ควรจะถูกตะไบให้เรียบร้อย ไม่ให้มีส่วนแหลมคม คงไม่ดีแน่ถ้าเล่นแล้วเฟรทแทงฉึก เลือดพุ่ง

           9. ลูบ ๆ คลำ ๆ (อีกแล้ว) ไปรอบ ๆ เพื่อดูว่าแล็คเกอร์ถูกทาสม่ำเสมอทั่วตัวหรือไม่ (เว้นรุ่นผิวด้าน อาจจะดูยากนิดนึง)


อูคูเลเล่
อูคูเลเล่ กีตาร์ฮาวาย

           10. สังเกตโดยรอบว่ามีรอยแตก รอยหัก รอยบิ่น รอยข่วนใด ๆ หรือไม่ ของมือหนึ่งไม่ควรจะเป็นรอย ของมือสองอาจจะมีรอยบ้าง ถ้าเป็นแค่รอยข่วน (scratch) ที่ผิวแลกเกอร์ไม่ได้กินลึกเข้าไปในเนื้อไม้ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเกิดจากการผ่านการเล่น ผ่านการสตรัม แต่ถ้าเป็นรอยแตกของเนื้อไม้ (crack) ต้องระวังให้ดี เพราะเล่นไปนาน ๆ อาจจะแตกเพิ่มถ้าไม่ซ่อมแซม แต่บางรอยแตกเป็นแบบแตกบาง ๆ (hairline crack) ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ถ้ารอยแตกใหญ่ถึงขนาดที่ส่องอูคูเลเล่กับไฟแล้วเห็นทะลุลอดไปได้ ควรจะระวังเป็นพิเศษ แต่เชื่อหรือไม่ว่าอูคูเลเล่เก่า ๆ บางตัว (เห็นมากับตา ฟังมากับหู) มีรูโหว่เบ้อเร่อ แตกบิ่นทั่วร่าง แต่เสียงโคตรดี

           อ้อ..อย่า ลืมส่องดูข้างใน sound hole เผื่อเจอแมงมุมทำรังอยู่ ระวังโดนกัด สังเกตดูพวก braces (กระดูกงู หรือเปล่า) ที่อยู่ตามขอบด้านใน ว่างานเรียบร้อยดี

           11. ดมดู (อย่าเพิ่งขำไป) ถ้าซื้อของเก่ามือสอง กลิ่นควรจะเก่า ๆ ถ้ากลิ่นใหม่ให้พึงระวังว่า อาจจะผ่านการซ่อมแซมและทาแลกเกอร์ใหม่ทับ

           12. Intonation ควรจะถูกต้อง แต่ละเฟรทควรจะมีโน้ตที่ถูกต้อง ถ้ามีเครื่อง digital tuner ก็ไช้ไล่ไปเลยทีละช่อง เทียบกับตารางโน้ต ที่เฟรท 12 เสียงควรจะกลับมาเป็น G C E A

           13. สตรัมเพลงโปรดสักเพลงสองเพลง แล้วลองฟังดู อาจจะให้เพื่อนไปยืนอีกฟากหนึ่งของห้อง แล้วช่วยฟัง tone และ harmonic เสียงควรจะกลมกล่อม ไม่ควรมีโน้ตใดโน้ตหนึ่งกระโดดดึ๋งออกมา โดยไม่ได้รับเชิญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเราฟัง เราเล่น แล้วเราชอบ ก็ไม่ต้องไปสนใจใคร

           หวังว่าวิธีการเลือกซื้อ อูคูเลเล่ ข้างต้น คงเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย...แล้วไว้พบกันใหม่นะ สาวก อูคูเลเล่ ทั้งหลาย^^


ที่มา http://musicstation.kapook.com/view25754.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น